ศูนย์การพัฒนาโนนดินแดง (กลุ่มงานด้านความมั่นคง)
ที่ตั้ง : บ้านโนนดินแดง ตำบลโนนดินแดง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์
ก่อตั้งเมื่อ : ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๑
กิจกรรมสำคัญที่ดำเนินการ : หม่อนไหม,ไร่นาสวนผสม
จุดประสงค์ ศูนย์/โครงการฯ
ทำการพัฒนาร่างกายจิตใจ จัดระบบรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้าน โดยปรับปรุงแก้ไขปัญหาทั้งด้านการเกษตร การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ด้านสาธารณสุข และการรักษาความปลอดภัย เป็นต้น
- หน่วยงานที่รับผิดชอบ
กองพันทหารราบที่ ๔ กรมทหารราบที่ ๒๓
- ที่ตั้งโครงการ ๑๔.๒๙๗๖๘๕/๑๐๒.๗๕๔๒๗๖ (TA๕๗๗ ๘๑๖)
บ้านโนนดินแดง ตำบลโนนดินแดง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์
- ประวัติความเป็นมา
ภายหลังจากที่ประเทศกัมพูชา ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ เมื่อปลายปี ๒๕๑๗ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จึงได้อาศัยประเทศกัมพูชาเป็นหลักอิง ทำให้การต่อสู้ด้วยอาวุธ ของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในพื้นที่อีสานตอนล่างได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดและขยายตัวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยพื้นที่แรกในพื้นที่อีสานตอนล่าง กองทัพภาคที่ ๒ จึงได้จัดตั้งกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ๒๐๒๑ ขึ้น เพื่อระงับยับยั้งสถานการณ์ดังกล่าวซึ่งแนวทางในการแก้ปัญหา ขณะนั้นใช้กำลังปราบปรามเป็นหลัก โดยเฉพาะในห้วงการก่อสร้างเส้นทาง สายละหานทราย – ตาพระยา เมื่อปี ๒๕๒๑ ซึ่งเป็นเส้นทางสายยุทธศาสตร์ที่สร้างขึ้น เพื่อเป็นการแบ่งแยก เขตงานของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เขตงาน ๒๐๓ ด้าน อำเภอละหานทราย และเขตงาน ๒๐๕ ด้าน อำเภอเสิงสาง, อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ทำให้ได้รับการต่อต้านอย่างหนัก จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต้องอพยพหลบหนี ไร้ที่อยู่อาศัยที่ทำกิน เกิดความอดอยากทุกข์ยากยิ่งกว่าพื้นที่ใดๆ ในขณะนั้น จากปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร อำเภอละหานทรายและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าว ความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วยความห่วงใยพสกนิกรที่ ทุกข์ยากเหล่านั้น พระองค์ทรงมีพระกระแสรับสั่งท่านผู้หญิงหม่อมราชวงศ์สุประภาดา เกษมสันต์ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ให้เดินทางไปเยี่ยมราษฎรเพื่อหาทางช่วยเหลือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงติดตามสถานการณ์ความเดือดร้อนของราษฎรในเวลาต่อมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง ให้อธิบดีกรมชลประทาน และผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้น (นายมนัส ปิติวงค์ และ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์) เข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานประสานงานกับกองทัพบกอย่างใกล้ชิด ให้เร่งรัดทำการสำรวจออกแบบทำการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะนาว ที่หมู่บ้านโนนดินแดงให้แล้วเสร็จในปีเดียวกัน พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์จะช่วยเหลือแก้ไขปัญหาขั้นต้นให้ราษฎรได้ใช้ประโยชน์ของแหล่งน้ำ เพื่อประกอบอาชีพทำการเกษตรกรรมใกล้ๆ หมู่บ้านเป็นการแก้ไขปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ไปก่อน เพราะการออกไปประกอบอาชีพไกลๆนอกหมู่บ้านทำให้ราษฎรต้องบาดเจ็บล้มตายและได้รับภัยคุกคามจากผู้รุกรานพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะนาว นับเป็นโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการแรกของภาคอีสานตอนล่าง
ภายหลังจากกรมชลประทาน และกองทัพบก ได้สนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยออกแบบเสร็จและเริ่มทำการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะนาว ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๒๑ แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับแม่ทัพภาคที่ ๒ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ผู้บังคับหน่วยทหารในพื้นที่ ทรงแนะนำวิธีการพัฒนาแนวใหม่เป็นโครงการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จผสมผสานสมบูรณ์แบบ เพื่อเจ้าหน้าที่ทุกส่วนราชการระดมทรัพยากรเข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่เป้าหมายภายใต้แผนงานอันเดียวกัน กองทัพภาคที่ ๒ จึงสนองพระกระแสรับสั่งดังกล่าว การดำเนินการโดยได้จัดทำเป็นโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ อำเภอละหานทราย ขึ้น เป็นโครงการต่อเนื่อง ๔ ปี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๓ – ๒๕๒๖ เป็นการใช้การพัฒนาการทหาร ผลการดำเนินการสามารถระงับยับยั้งและยุติการขยายตัวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งสามารถปิดเขตงานการเคลื่อนไหวบีบบังคับกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ละทิ้งพื้นที่ได้ทั้งหมด เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามโครงการจากนั้นได้ขยายผลไปพื้นที่ อำเภอเสิงสาง อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมาจนสามารถปิดเขตงานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในพื้นที่ได้อย่างสิ้นเชิง และจากแนวทางพระราชดำรินี้เองก็ได้เป็นต้นแบบของแผนยุทธศาสตร์พัฒนาที่ใช้ดำเนินการในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
- วัตถุประสงค์
ความเป็นมาโดยสรุป: เป็นโครงการพัฒนาเสริมความมั่นคงพื้นที่แรกของภาคอีสานตอนล่าง ตามพระราชดำริฯ เมื่อ ๓๑ ต.ค.๒๑ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ที่ได้รับความเดือนร้อนจากภัยสู้รบจนสามรถปิดเขตงาน พคท. ได้อย่างสิ้นเชิงใน ปี ๒๕๒๖ ภาครัฐได้เข้ามาพัฒนาภายใต้แผนงานอันเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์ และเป้าหมายการพัฒนา
– เป็นแหล่งสาธิตการประกอบอาชีพ
– เป็นศูนย์กลางการบริการด้านการพัฒนา
– ช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่โครงการฯ
– เป็นแหล่งฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ราษฎร และทหารก่อนปลดประจำการ
และมีกิจกรรมการพัฒนา คือ การจัดระบบและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร, การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและการจัดระบบส่งน้ำ, การจัดรูปที่ดินท้ายอ่างเก็บน้ำลำนางรองเป็นแปลงเกษตรประณีต, การจัดรูปแปลงนาท้ายอ่างเก็บน้ำคลองมะนาวเป็นแปลงเกษตรกึ่งประณีต และกิจกรรมส่งเสริมเพื่อความต่อเนื่องของโครงการ ซึ่งมีโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ทรงพระราชทานไว้ คือ การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร, พัฒนาอาชีพ, ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างสาธารณะประโยชน์, จัดตั้งหมู่บ้านและที่ดินทำกิน , พัฒนาจิตใจและปรับปรุงคุณภาพชีวิตการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งปัจจุบันประสบผลสัมฤทธิ์ ราษฎรในพื้นที่มีความเข้มแข็ง มีการรวมกลุ่มอาชีพชัดเจน หน่วยงานรับผิดชอบมีแผนดำเนินงานเป็นระบบและพัฒนาโครงการเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้/ฝึกอาชีพ ของราษฎร/นักเรียน/นักศึกษา อย่างได้ผล
- ผลการดำเนินการ
๔.๑ สมาชิกแปลงนาประณีต จำนวน ๑๓๕ ราย
๔.๒ สมาชิกแปลงผักนาใหม่ จำนวน ๑๐๑ ราย
๔.๓ สมาชิกปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จำนวน ๑๔ ราย
๔.๔ สมาชิกกลุ่มทอผ้า จำนวน ๒๔ ราย
รวมสมาชิก จำนวน ๒๗๔ ราย






