โครงการธง “พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต”

๑) หลักการและเหตุผล

    ด้วยในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง ได้มีพระราชเสาวนีย์เกี่ยวกับโครงการธง “พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” กับ พลโทสุรยุทธ์ จุลานนท์ แม่ทัพภาคที่ ๒ (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร สรุปสาระสำคัญของพระราชเสาวนีย์  เพื่อคัดเลือกหมู่บ้าน/ชุมชน และบุคคลที่มีผลงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ดีเด่นจนเป็นที่ยอมรับจากชุมชนในระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศเพื่อเข้ารับพระราชทานธงและเข็ม “พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
พระราชชนนีพันปีหลวง พระราชชนนีพันปีหลวง จากเหตุผลดังกล่าว ทภ.๒ โดย ศปร.ทภ.๒ และ ศปร.กอ.รมน.ภาค ๒ ในฐานะหน่วยประสานงานและอำนวยการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้ประสานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาคัดเลือกบุคคลและชุมชนในท้องถิ่น เข้ารับพระราชทานธงและเข็มโครงการธง”พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” ตามแผนงานและบรรลุเป้าหมายตามพระราชประสงค์

     ๒) วัตถุประสงค์   

         (๑) เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้กลุ่มราษฎรที่ร่วมกันดูแลป้องกันรักษาป่า ได้มีการจัดตั้งองค์กรในการดูแลรักษาป่า และใช้ประโยชน์จากป่า ดูแลสภาพป่าของชุมชน ซึ่งกำลังอยู่ในสภาพฟื้นตัวขึ้นใหม่ ไม่ให้มีการบุกรุกแผ้วถางป่าและถูกทำลายโดยภัยธรรมชาติ

         (๒) เพื่อคัดเลือกกลุ่มราษฎร ที่ได้จัดตั้งเป็นองค์กรชุมชนพิทักษ์ป่าในพื้นที่ และร่วมกันดูแลป้องกันรักษาป่า จนได้รับการยอมรับจากชุมชน ทั้งในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ เข้ารับพระราชทานธง “พิทักษ์ป่าเพื่อรักษาชีวิต” จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง

         (๓) เพื่อคัดเลือกบุคคลในท้องถิ่นที่มีผลงานที่ดีในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และเป็นที่ยอมรับของชุมชน เข้ารับพระราชทาน “เข็มพิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง

         (๔) เพื่อตรวจสภาพผืนป่าที่ผ่านการคัดเลือก และได้รับพระราชทานธง “พิทักษ์ป่าเพื่อรักษาชีวิต” ในห้วงที่ผ่านมา

         (๕) เพื่อสร้างจิตสำนึกและปลูกฝังอุดมการณ์ให้กับราษฎรในพื้นที่เป้าหมายให้เกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ ตลอดจนแสดงความเป็นเจ้าของป่าไม้ร่วมกัน

         (๖) สร้างจิตสำนึกและอุดมการณ์ร่วมกันในการป้องกันรักษาป่าระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับราษฎรในพื้นที่ให้เป็นรูปธรรม

         (๗) ลดปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และส่งเสริมให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้

         (๘) สร้างจิตสำนึกให้ราษฎรเกิดความศรัทธาและความจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์

    ๓) การดำเนินงาน

        ทภ.๒ แต่งตั้งคณะทำงานตรวจพิจารณาคัดเลือกหมู่บ้าน/ชุมชน และบุคคลที่มีผลงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ ภาค ตอ./น. ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนสำนักพระราชวัง ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  ผู้แทนสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๗, ๘, ๙, ๑๐ และฝ่ายทหารดำเนินการพิจารณาคัดเลือกหมู่บ้าน/ชุมชน และบุคคลที่มีผลงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ดีเด่นในพื้นที่ภาค ตอ./น. ทั้ง ๒๐ จว. โดยมีแผนการดำเนินการใน ๒ ลักษณะ คือ

        (๑) การตรวจเลือกโดยคณะกรรมการทางภาคพื้นดิน เพื่อพิจารณาคัดกรองป่าไม้ที่ส่งเข้าพิจารณา  โดยป่าไม้ที่ผ่านการคัดเลือกขั้นต้นต้องมีความพร้อมตามข้อกำหนดที่เด่นชัดทั้งระดับชุมชนและระดับบุคคล อีกทั้งการตรวจสภาพผืนป่าที่ได้รับพระราชทานธง “พิทักษ์ป่าเพื่อรักษาชีวิต” แล้ว

        (๒) การตรวจคัดเลือกโดยคณะกรรมการทางอากาศ โดยป่าไม้ที่ผ่านการคัดเลือกทางภาคพื้นดินแล้ว คณะกรรมการจะตรวจคัดเลือกโดยอากาศยาน เพื่อพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง

        (๓) การตรวจความสมบูรณ์ของผืนป่าและบุคคลที่ได้ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการฯ แล้ว (ตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ ถึงปัจจุบัน) ทั้งที่ได้รับและยังไม่ได้รับพระราชทานธง และเข็ม “พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต”

         รายงาน กรส., ทบ. และ ทส. เพื่อรับทราบผลการคัดเลือกหมู่บ้าน/ชุมชน และบุคคลที่มีผลงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ดีเด่น พร้อมเตรียมการจัดพิธีพระราชทานธง และ เข็ม “พิทักษ์ป่า  เพื่อรักษาชีวิต” ในห้วงที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง พระราชชนนีพันปีหลวง จะทรงมีพระราชเสาวนีย์

    ๔) ผลที่คาดว่าได้รับ

    (๑) ทำให้ราษฎร ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับประโยชน์จากป่าชุมชน
ของตนเอง เช่น เป็นแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพรตามธรรมชาติ และป้องกันอุทกภัย

    (๒) ราษฎรเกิดความสำนึกและหวงแหนป่าไม้ ไม่บุกรุกทำลายป่า เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น

    (๓) ราษฎรมีความสามารถในการพัฒนาตนเองและชุมชนมากขึ้น และทำให้มีแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น

    (๔) หยุดยั้งการทำลายป่าและขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า

    (๕) ราษฎรเกิดความรักและสามัคคีในชุมชน

    (๖) ราษฎรเข้าใจถึงปัญหาและความจำเป็นที่ต้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวิธีการอนุรักษ์เพิ่มขึ้น

    (๗) ราษฎรเกิดความศรัทธาและความจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์

    ๕) ตัวชี้วัดและเกณฑ์การวัด

        (๑) เชิงปริมาณ ทภ.๒ แต่งตั้งคณะทำงานตรวจพิจารณาคัดเลือกหมู่บ้าน/ชุมชน และบุคคล ที่มีผลงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ ภาค ตอ./น. จำนวน ๙ – ๑๒ คน
ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนสำนักพระราชวัง, ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช, ผู้แทน
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๗, ๘, ๙, ๑๐ และฝ่ายทหาร ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกหมู่บ้าน/ชุมชน และบุคคลที่มีผลงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ดีเด่นในพื้นที่ภาค ตอ./น. ทั้ง ๒๐ จว.

        (๒) เชิงคุณภาพ  ทำให้ราษฎร ในพื้นที่ ภาค ตอ./น.  ได้รับประโยชน์จากป่าชุมชนของตนเอง เช่น  เป็นแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพรตามธรรมชาติ และป้องกันอุทกภัย อีกทั้งทำให้ราษฎรเกิดความสำนึกและหวงแหนป่าไม้ ไม่บุกรุกทำลายป่า เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น และสามารถรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้ กว่า ๔๔๖,๘๔๔ ไร่ (๑๙๔ หมู่บ้าน/ชุมชน)

ภาพกิจกรรมการตรวจป่า