โครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า “รสทป.”

1. หลักการและเหตุผล

สืบเนื่องจากในปี พ.ศ. 2537 กองทัพภาคที่ 2 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 ได้ดำเนินการโครงการฯ “รวมใจภักดิ์รักษ์สิ่งแวดล้อม” เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 เพื่อให้หน่วยงานขึ้นตรงได้ระดมศักยภาพและสรรพกำลังเข้าพัฒนาพื้นที่ รับผิดชอบ โดยตระหนักถึงความจำเป็นจะต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะ ตามแนวชายแดน ให้เป็นผู้ดูแลรักษาและปลูกป่าทดแทน สามารถพัฒนาพื้นที่ป่าไม้และสภาพแวดล้อมให้กลับคืน สู่ความสมบูรณ์เช่นอดีตได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นการสนองพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีพระราชปณิธานให้ “คน” กับ “ป่า” อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เริ่มดำเนินการในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 7 อำเภอ 2 กิ่งอำเภอ รวม 80 หมู่บ้าน โดยกรมทหารราบเฉพาะกิจที่ 6 ร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี ป่าไม้เขตอุบลราชธานี และป่าไม้จังหวัด อุบลราชธานี ซึ่งกรมป่าไม้สนับสนุนงบประมาณในการฝึกอบรม ทั้งนี้ราษฎรผู้ผ่านการฝึกอบรมรวมทั้งสิ้น 7,606 คน มีสถานะเป็น “สมาชิกราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.)” พร้อมกับได้มีการจัดตั้งเป็น “องค์กรราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.)” ขึ้นในชุมชน

ในห้วงปลายปีเดียวกันในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 ส่วนแยก 1 ร่วมกับจังหวัดมุกดาหาร สำนักงานป่าไม้เขตอุดรธานี และป่าไม้จังหวัดมุกดาหาร ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมป่าไม้ในการฝึกอบรมราษฎรเพื่อพิทักษ์สัตว์ป่าและสภาพแวดล้อม(ต่อมาเปลี่ยนเป็นการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่าเช่นเดียวกัน) เป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งการใช้พื้นที่ป่าระหว่างสำนักสงฆ์กับชาวบ้าน ในพื้นที่บริเวณสำนักสงฆ์ภูผาผึ้ง อุทยานแห่งชาติห้วยหวด มีราษฎร ผ่านการฝึก อบรมทั้งสิ้น 187 คน ต่อมาในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2537 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านสานแว้ ตำบลนาโคกกุง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า ได้นำอาวุธปืนจำนวน 125 กระบอก และเครื่องมือดักสัตว์จำนวน 407 ชิ้น น้อมเกล้าฯ ถวาย พร้อมถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระพักตร์ ว่าจะเลิกล่าสัตว์และบุกรุกทำลายป่าการดำเนินงานตามโครงการฝึกอบรมราษฎรเพื่อจัดตั้งเป็นมวลชนราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า ดังกล่าวข้างต้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงทราบและให้ความสนพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ได้มีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ดำเนินการฝึกอบรม โดยปรับใช้ชื่อโครงการใหม่ว่า โครงการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) เป็นต้นมา ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหนังสือ ที่ กษ 0708.2/28031-28033 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 เรื่อง ปรับโครงการฝึกอบรมราษฎรป้องกันรักษาป่า (อส.ป.) เป็นโครงการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) เห็นชอบให้กรมป่าไม้ปรับโครงการฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันรักษาป่า (อส.ป.) เป็นโครงการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนปัจจุบัน และขยายผลการดำเนินงานออกไปทั่วประเทศร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง คือ กองทัพภาคที่ 1-4 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 1-4 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินโครงการ ฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน และจากการติดตามประเมินผล ปรากฏว่า ราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า สามารถดำเนินการตามภารกิจด้านการมีส่วนร่วมในการป้องกันรักษาป่าอย่างมี ประสิทธิผลตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ จึงสมควรดำเนินการโครงการต่อเนื่องไปอีก เพื่อสนองพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 “พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” และเพื่อปกปักรักษาป่าอันเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ล้ำค่า ให้คงอยู่เป็นมรดกให้กับลูกหลานและของประเทศชาติสืบไป


2. วัตถุประสงค์

  • ถ่ายทอดพระราชปณิธาณ และความห่วงใยในพสกนิกร ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 แก่ราษฎรในพื้นที่ให้มีความเข้าใจและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ร่วมกันดูแลรักษาป่าเพื่อถวายเป็นพระราชสักการะ
  • สร้างจิตสำนึกของราษฎรในพื้นที่ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงระดับชุมชนใหญ่ให้เกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ เกิดความเป็นเจ้าของป่าร่วมกัน ตระหนักถึงความสำคัญของป่าที่เป็นหลักประกันชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชน
  • สร้างจิตสำนึกและอุดมการณ์ร่วมกันในการป้องกันรักษาป่าระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับราษฎรในพื้นที่ให้เป็นรูปธรรม
  • เพื่อให้ราษฎรผู้ผ่านการฝึกอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ ต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า และวิธีการอนุรักษ์ ตลอดจนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อขยายผลสู่ญาติพี่น้องในครอบครัวต่อไป
  • เพื่อเป็นทักษะขั้นพื้นฐานที่ควรรู้ให้กับราษฎรในสิทธิและประโยชน์อันพึงได้รับจากรัฐ
  • เพื่อจัดตั้งองค์กรราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ในชุมชนที่อยู่ในและรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย

ภาพกิจกรรมการอบรมโครงการธง “พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต”