ประวัติความเป็นมา

            พระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแก่ปวงราษฎรไทยทั้งหลาย ในระยะต้นแห่งการเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยสิริราชสมบัตินั้น เป็นพระราชดำริด้านการแพทย์และงานสังคมสงเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากในระยะต้นรัชกาลนั้น กิจการด้านการแพทย์ของไทยยังไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร และการบริการสาธารณสุขในชนบทยังมิได้แพร่หลาย เฉกเช่นปัจจุบัน พระราชกรณียกิจช่วงแรกเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๓- ๒๕๐๕ จะเป็นการช่วยเหลือบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า ไม่มีลักษณะเป็นโครงการเต็มรูปแบบอย่างปัจจุบัน เช่น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ วัณโรคมีอุบัติการณ์สูงและยังไม่หมดไปจากประเทศไทย ปีหนึ่งๆ มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้เป็นจำนวนไม่น้อย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เคยมีพระราชปรารภกับหลวงพยุงเวชศาสตร์ อธิบดีกรมสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ความว่า

คุณหลวง วัณโรค สมัยนี้มียารักษากันได้เด็ดขาดหรือยัง ยาอะไรขาด ถ้าต้องการ ฉันจะหาให้อีก ฉันอยากเห็นกิจการแพทย์ของเมืองไทยเจริญมากๆ”

            เมื่อคราวที่โรคอหิวาตกโรคระบาดอย่างรุนแรงในเมืองไทย ซึ่งโรคนี้ต้องใช้ “น้ำเกลือ” เป็นจำนวนมาก แต่ในขณะนั้นการให้ น้ำเกลือแก่ผู้ป่วยมีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากต้องสั่งจากต่างประเทศ และน้ำเกลือที่ผลิตได้ในประเทศไทยตอนนั้นยังขาดคุณภาพ จนกล่าวกันว่า “ใส่ใครไปก็ช็อค” จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้มีการศึกษาวิจัยและสนับสนุนในการค้นหาวิธีสร้างเครื่อง กลั่นน้ำเกลือใช้เอง จนมีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ และเป็นที่ยอมรับกันจนถึงปัจจุบันนี้ โครงการแพทย์หลวงพระราชทาน “เรือเวชพาหน์” เพื่อใช้เป็นหน่วยเคลื่อนที่รักษาราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามลำน้ำ โดยพระราชทาน พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการดำเนินการมาจนทุกวันนี้

            พระราชจริยวัตรเช่นนี้ ได้กลายเป็นการขยายวงกว้างของปรัชญาการสังคมสงเคราะห์ของประเทศไทย โดยฝังลึกจิตใจคนไทยลงไปถึงระดับล่างทุกพื้นที่ในเรื่องของการช่วยเหลือ ซึ่งกันและกันจะเห็นได้จากยามที่มี สาธารณภัยเกิดขึ้น คนไทยทั้งหลายจะช่วยเหลือกันบริจาคโดยมิต้องร้องขอแต่อย่างใด ด้วยความห่วงใยในทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ นับแต่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยสิริราชสมบัติเป็นต้นมา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทยากจน อยู่ในภูมิภาคต่างๆ มากกว่าประทับอยู่ในพระราชวัง ที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้เพื่อทรงค้นหาข้อมูลที่แท้จริงจากประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐประจำพื้นที่ และทรงสังเกตการณ์สำรวจสภาพทางภูมิศาสตร์ไปพร้อมๆ กันด้วย ทั้งนี้เพื่อทรงรวบรวมข้อมูลไว้เป็นแนวทางที่จะพระราชทานพระราชดำริในการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่อไป

            พระราชดำริเริ่มแรกอันเป็นโครงการช่วยเหลือประชาชนเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๔
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมประมงนำพันธุ์ปลาหมอเทศจากปีนัง ซึ่งได้รับจากผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เข้าไปเลี้ยงในสระน้ำพระที่นั่งอัมพรสถาน และเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพันธุ์ปลาหมอเทศนี้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ นำไปเลี้ยงเผยแพร่ขยายพันธุ์แก่ราษฎรในหมู่บ้านของตน เพื่อจักได้มีอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้น

            โครงการพระราชดำริที่นับว่าเป็นโครงการพัฒนาชนบทโครงการแรก เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรถบลูโดเซอร์ ให้หน่วยตำรวจตระเวนชายแดนค่ายนเรศวร ไปสร้างถนนเข้าไปยังบ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กไฟ (ปัจจุบันคือ ตำบลทับใต้) อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้ราษฎรสามารถสัญจรไปมาและนำผลผลิตออกมาจำหน่ายยังชุมชนภายนอกได้สะดวกขึ้น

            จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้พระราชทานพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อบรรเทาความแห้งแล้ง เดือดร้อนของราษฎรและสร้างเสร็จใช้ประโยชน์ได้ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ นับเป็นโครงการพระราชดำริทางด้านชลประทานแห่งแรกของพระองค์

ความเป็นมาของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการส่งเสริม ศิลปาชีพพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

            พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในอดีต ประชาชนเคยมีปัญหาความขัดแย้งทางความคิดและอุดมการณ์ เกิดการต่อสู้ระหว่างคนไทยด้วยกันเองเป็นเวลานาน รัฐบาลต้องจัดกำลังพลเรือนตำรวจ และทหารเข้าปฏิบัติงาน เพื่อรักษาความมั่นคงภายในประเทศต้องสูญเสียชีวิตทั้งเจ้าหน้าที่ และประชาชนจำนวนมากรวมทั้งสูญเสียทรัพยากรของประเทศอย่างมากมายมหาศาล ประกอบกับประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องประสบปัญหาความยากจน ขาดการพัฒนาในพื้นที่ห่างไกล ประชาชนจึงขาดคุณภาพชีวิตที่ดีมาเป็นเวลานาน

            ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๔ นับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินกลับจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ก็ทรงมีพระราชดำริ ริเริ่มกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร โดยระยะนั้นการสาธารณสุขของประเทศเรายังไม่พัฒนาเท่าที่ควร พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริ ในการระดมทุนทรัพย์จัดสร้างภาพยนตร์ส่วนพระองค์ขึ้น เพื่อนำรายได้ไปสร้างอาคารแพทย์ ซึ่งตึกที่สร้างเป็นอันดับแรก คือ จุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลภูมิพลในปัจจุบัน รวมทั้งตึก วชิราลงกรณ์สภากาชาดไทย ที่สร้างในอันดับต่อมาด้วย ในแง่ของการพัฒนาเพื่อความอยู่ดีกินดีของราษฎร โดยเฉพาะชาวชนบท ก็ทรงดำเนินควบคู่ไปด้วยตลอดเวลา โครงการแรกที่เกิดขึ้นคือ โครงการสร้างถนนเข้าหมู่บ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ ซึ่งต่อมาทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ เยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งแรก เมื่อ ๒ – ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ โดยขบวนรถไฟพระที่นั่งจากสถานีจิตรลดาไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทุกจังหวัด ทรงทราบข่าวสารข้อมูลความเดือดร้อนและความต้องการที่แท้จริงของประชาชนแล้ว พระองค์จะทรงนำมาวางแผนการพัฒนาที่เป็นระบบ เพื่อขจัดปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนเหล่านั้น

            เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๑๖ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จฯ เปิดโรงเรียน “ร่มเกล้า” ที่บ้านหนองแคน ตำบลดงหลวง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม(อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ในปัจจุบัน) นับเป็นโรงเรียนร่มเกล้าหลังแรกของประเทศ ภายหลังจากทรงเปิดอาคารเรียน  ดังกล่าวแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ เยี่ยมหน่วยทหารซึ่งปฏิบัติการในสนามที่ฐานปฏิบัติการภูพานน้อย นับเป็นฐานปฏิบัติการที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯ เยี่ยมเยียนเป็นแห่งแรกในพื้นที่ กองทัพภาคที่ ๒ ณ พื้นที่ปฏิบัติการแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแนวทางปฏิบัติการทางจิตวิทยาช่วยเหลือประชาชนแนวทางใหม่กับผู้บังคับหน่วยทหารในพื้นที่ รวมทั้งพระราชทานพระบรมราโชบายให้คนไทยรู้จักการให้อภัยปรองดองและอะลุ่มอล่วยซึ่งกันและกัน จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของพระองค์ที่ทรงมี พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับงานด้านการรักษาความมั่นคง และการพัฒนาประเทศในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

            นับจากพระราชกรณียกิจเริ่มแรกครั้งนั้นเป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จฯ มาปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อพระราชทานความช่วยเหลือประชาชนโดยต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี โดยในชั้นต้นเมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๑๘ พระองค์ได้เสด็จฯ มาประทับแรม ณ ที่ประทับรับรองของโครงการชลประทานน้ำอูน อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ที่กรมชลประทานสร้างถวาย ระหว่างที่ประทับแรมพระองค์จะเสด็จฯ เยี่ยมให้กำลังใจข้าราชการพลเรือน ตำรวจ และ ทหาร ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความมั่นคงในพื้นที่ เสด็จฯ เยี่ยมเยียนประชาชน รวมทั้งเสด็จฯ ไปนมัสการพระภิกษุสงฆ์ที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น การที่พระองค์ได้ทรงพบปะ พระภิกษุสงฆ์และประชาชนโดยตรงนั้น ทำให้ได้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชน ที่แท้จริง นับเป็นการหาข่าวด้วยพระองค์เอง เมื่อทรงทราบข่าวสารข้อมูลความเดือดร้อนและความต้องการที่แท้จริงของประชาชนแล้ว พระองค์จะทรงนำมาวางแผนการพัฒนาที่เป็นระบบ เพื่อขจัดปัญหาความทุกข์ยาก ของประชาชนเหล่านั้น จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในแต่ละพื้นที่

            เนื่องจากปัญหาด้านความไม่ปลอดภัยที่เริ่มคุกคามประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น ด้วยความห่วงใยพสกนิกรโดยทั่วไป  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะสร้าง พระตำหนักที่ประทับแรมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น บริเวณเทือกเขาภูพาน ทรงตัดสินพระทัยเลือกพื้นที่บริเวณภูพาน ด้วยพระองค์เอง (พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ในปัจจุบัน) เป็นสถานที่ก่อสร้างที่ประทับแรม โดยในชั้นต้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นเรือนปีกไม้สำหรับเป็น ที่ประทับแรมชั่วคราวก่อน ซึ่งเรือนปีกไม้หลังนี้ได้สร้างเสร็จเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๙ หลังจากนั้นจึงได้เสด็จฯ มา ประทับแรม ณ เรือนปีกไม้เป็นประจำทุกปี จนกระทั่งพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์หลังใหญ่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๑

            “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในปีนั้น ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้บังคับหน่วยทหารที่เข้าเฝ้าฯ ทรงสนพระทัยการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน และทรงมีพระราชวินิจฉัยแนะนำแนวทางการแก้ปัญหาด้านความมั่นคงเป็นครั้งแรก โดยการใช้วิธีการทางเศรษฐกิจและสังคม เข้าไปดำเนินการ เป็นวิธีการทางยุทธศาสตร์ที่ส่งผลระยะยาว ถือเป็นการกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์พัฒนาเป็นครั้งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งกองทัพภาคที่ ๒ ได้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติตลอดมา”

            แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพัฒนาประเทศและพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของ ประชาชนนั้น พระองค์จะทรงเน้นในเรื่องการพัฒนาอาชีพและพัฒนาด้านการเกษตรเป็นลำดับแรก โดยทรงคำนึงถึงการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรให้เพียงพอ ต่อการประกอบอาชีพของประชาชน  จะเห็นได้จากโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เขื่อน ฝาย จำนวนมากกว่า ๒๐๐ โครงการ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีทั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเชิงเขา การพัฒนาเป็นลุ่มน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำในลักษณะแก้มลิง เป็นต้น เมื่อพัฒนาเป็นแหล่งน้ำแล้ว พระองค์จะพระราชทานพระราชดำริ การพัฒนาการเกษตรในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างผาสุกด้วยความ พออยู่ พอกิน หลังจากได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพและการพัฒนาด้านการเกษตรแล้ว พระองค์ได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมว่า การพัฒนาใดๆ นั้นจำเป็นต้องมีศูนย์กลางเพื่อให้ความรู้และเพื่อเป็นตัวอย่าง ประชาชนจะได้นำไปดำเนินการในครอบครัวของตน จะเห็นได้จากที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น ที่จังหวัดสกลนคร ซึ่งกองทัพภาคที่ ๒ ได้น้อมนำแนวทางดังกล่าวมาดำเนินการจัดตั้งศูนย์การพัฒนาพื้นที่ชายแดนเพิ่มเติมคือ ศูนย์การพัฒนาโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ศูนย์การพัฒนาพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำลำปลายมาศ จังหวัดนครราชสีมา ศูนย์การพัฒนาพื้นที่ชายแดนจังหวัดสุรินทร์ และศูนย์การพัฒนาพื้นที่ชายแดนจังหวัดอุบราชราชธานี เป็นต้น

            การพัฒนาด้านสังคมนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาด้านการศึกษา ด้านการศาสนาและวัฒนธรรม จะเห็นได้จากทุกครั้งที่เสด็จฯ เยี่ยมเยียนประชาชนจะเสด็จฯ ไปนมัสการพระภิกษุสงฆ์ผู้มี จริยาวัตรดีงามในพื้นที่ต่างๆ ด้วยเสมอ ส่วนด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตนั้น พระองค์ทรงให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาด้านการแพทย์และสุขอนามัย ทั้งนี้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น นอกจากนั้นพระองค์ยังให้ความสนพระทัยอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาสภาพแวดล้อม จะเห็นได้จากการที่พระองค์พระราชทานพระราชดำริให้ส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาป่าหนองเต็ง–จักราช จังหวัดนครราชสีมา โครงการแก้ปัญหาผลกระทบจากการทำนาเกลือในพื้นที่จังหวัดสกลนคร โครงการปลูกหญ้าแฝก โครงการบำบัดน้ำเสียหนองสนม จังหวัดสกลนคร เป็นต้น

            สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชหฤทัยที่จะช่วยเหลือราษฎรอย่างยั่งยืนตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพบว่าทุกวันนี้ป่าไม้กำลังถูกทำลายเป็นจำนวนมาก จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศบนท้องฟ้าทำให้ขาดความชุ่มชื้น ทำให้มีฝนตกลงมาน้อย ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าป่าไม้เป็นสิ่งดูดซึมกักเก็บน้ำไว้ในรากใต้ดินทำให้เกิดน้ำซับเป็นลำธารขึ้น ดังนั้นจึงทรงชักชวนให้ราษฎรร่วมมือร่วมใจกันปลูกป่า เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๕ ณ บริเวณเชิงเขาภูผาเหล็กติดกับอ่างเก็บน้ำคำจวง บ้านถ้ำติ้ว ตำบลส่องดาว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ทรงให้จัดเตรียมพื้นที่สำหรับทรงปลูกป่าเป็นตัวอย่าง ๑ ไร่ และโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีบวงสรวงขึ้น เพื่อป่าวประกาศอัญเชิญเทพารักษ์เจ้าป่าเจ้าเขามาสถิตย์อยู่ ณ ป่าแห่งนี้ ทรงเสด็จฯ มาประกอบพระราชพิธีด้วยพระองค์เอง ทรงนำข้าราชการและประชาชนปลูกป่าในพื้นที่ ที่เตรียมไว้และพระราชทานชื่อโครงการนี้ว่า “โครงการป่ารักน้ำ” หลังจากนั้นเมื่อ วันที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๖ ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งหมู่บ้านป่ารักน้ำขึ้น ที่ตำบลโคกสี  อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร  ทรงคัดเลือกราษฎรที่ยากจนไม่มีพื้นที่ทำกินมาอยู่ในหมู่บ้านป่ารักน้ำ จำนวน ๙ ครอบครัว ทรงพระราชทานบ้านให้   ครอบครัวละ ๑ หลัง เป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงฝาขัดแตะ พระราชทานถังเก็บน้ำฝน บ่อน้ำตื้น โค ๒ ตัว เกวียน ๑ เล่ม ยุ้งเก็บข้าว ไก่ เล้าไก่ และพันธุ์ไม้ผลทุกครอบครัว พระราชทานเงินให้ครอบครัวละ ๑,๕๐๐ บาท ทรงมอบหมายหน้าที่ให้ราษฎรช่วยกันปลูกต้นไม้และรักษาป่าไม้ ครอบครัวละ ๕ ไร่ อันเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่

            สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใยถึงฐานะความเป็นอยู่ของราษฎร  ทรงมีพระราชประสงค์ จะให้มีฐานะพอมีพอกิน เพื่อที่จะไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่าและร่วมกันหวงแหนดูแลรักษาป่า เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรบ้านกุดนาขาม ทรงปลูกต้นไม้และชักชวน ให้ราษฎรปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ทรงมีพระเมตตาให้ราษฎรที่ยากจนขาดแคลน ที่ทำกิน จำนวน ๒๑ ครอบครัว ช่วยกันดูแลรักษาป่า โดยพระราชทานเงินเดือนๆ ละ ๑,๕๐๐ บาท เป็นเวลา ๓ ปี  ในระหว่างนั้นได้ทรงจัดครูมาช่วยฝึกสอนอาชีพต่างๆ  ตามที่ราษฎรถนัด ทรงมีพระราชดำริที่จะให้บ้านกุดนาขามเป็นหมู่บ้านตัวอย่าง มีพระราชประสงค์ให้ทุกคนในหมู่บ้านได้มีอาชีพเสริมภายหลังจากที่เสร็จสิ้นฤดูทำนา ต่อมา ทรงมีพระเมตตา  ให้จัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพขึ้นเป็นแห่งแรก ที่บ้านกุดนาขาม ตำบลเจริญศิลป์ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร (ปัจจุบันได้แบ่งการปกครองออกเป็นอำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร) ซึ่งถือเป็นศูนย์แม่บทของศูนย์ศิลปาชีพ เป็นศูนย์กลางของโครงการศิลปาชีพในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยพระองค์ ได้มีพระราชดำรัส อันเป็นที่มาของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ดังนี้.

          “…ข้าพเจ้าได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงนำของพระราชทานไปช่วยเหลือราษฎร มักจะเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค แล้วก็รับสั่งกับข้าพเจ้าว่าการช่วยเหลือแบบนี้เป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ซึ่งช่วยเขาไม่ได้จริง ๆ ไม่เพียงพอทรงคิดว่าทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือชาวบ้านเป็นระยะยาวคือ ทำให้เขามีความหวังที่จะอยู่ดีกินดีขึ้น ลูกหลานได้เข้าโรงเรียนได้เรียนหนังสือ ซึ่งในเรื่องนี้รัฐบาลได้พยายามส่งเสริมอยู่แล้ว เขาเพิ่มจำนวนโรงเรียนขึ้นอย่างสม่ำเสมอ แต่ชาวนาชาวไร่บอกว่า เขาส่งให้ลูกไปเรียนหนังสือ ไปเข้าโรงเรียนไม่ได้เพราะต้องอาศัยอยู่เป็นกำลังช่วยกันทำมาหากิน ดังนั้น จะพบเด็กที่อยู่ในวัยเรียน และไม่ได้เรียนหนังสืออีกมาก ส่วนมากก็ได้จบ ป.๔ ซึ่งก็น่าเป็นห่วง ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงเริ่มคิดหาอาชีพเสริมให้แก่ครอบครัวชาวนา ชาวไร่ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ก็ทรงหาแหล่งน้ำให้การทำไร่ ทำนา ของเขาเป็นผลต่อประเทศชาติ       ต่อบ้านเมือง ทรงพระราชดำเนินไปดูตามไร่ของเขาต่าง ๆ ทรงคิดว่านี้เป็นการให้กำลังใจ และที่ทรงให้ข้าพเจ้าดูแลพวกครอบครัว ก็เลยเป็นที่เกิดของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ…”

            จากการที่ได้ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร เยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ภาคต่างๆ ตลอดเวลานั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงได้พบเห็นสภาพป่าไม้ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเคยมีความอุดมสมบูรณ์มาก่อนถูกบุกรุกทำลายไปอย่างมากมาย ทำให้เกิดสภาวะความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกพืช ขาดน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค  ผลที่ตามมาก็คือความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎร  จึงได้ทรงมีพระราชดำริ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ เพื่อให้ “คน” กับ ”ป่า” อยู่ร่วมกันได้อย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๕ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จฯ เยี่ยมเยียน ราษฎรบ้านทันสมัย ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำ “โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่” ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโพนสว่าง อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม  ต่อจากนั้นทรงมีพระราชดำริให้จัดทำเป็นโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ในพื้นที่อื่นๆ อีก เช่น โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่บ้านน้อมเกล้า ตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ผานาง-ผาเกิ้ง ตำบลผาอินทร์แปลง กิ่งอำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีพระราชดำริให้อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่บริเวณป่าภูเขียว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ พระองค์ได้เสด็จฯ เพื่อปล่อยสัตว์ป่าในพื้นที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

            พระวิริยะอุตสาหะตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการที่จะรักษาและพัฒนาป่าไม้ในรูปแบบต่างๆ เป็นระยะเวลานานผ่านมา   ปัญหาการบุกรุกและทำลายป่าไม้ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงเล็งเห็นภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ได้พระราชทานแนวทางใหม่ ในการแก้ไข โดยการขอให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษา ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเสียสละทุ่มเทพระวรกายเสด็จฯ ลงมาเป็นศูนย์กลางในการรวมจิตใจของประชาชนผู้รักป่าไม้ พระองค์ได้เสด็จฯ เยี่ยมเยียนและเป็นกำลังใจให้แก่ราษฎรที่ช่วยกันดูแลรักษาและพัฒนาพื้นที่ป่าไม้เป็นครั้งแรกที่บ้าน สร้างถ่อนอก ตำบลสร้างถ่อน้อย อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๘ พร้อมทั้งได้มีพระราชดำริพระราชทานธง “พิทักษ์ป่า  เพื่อรักษาชีวิต” ให้เป็นศูนย์รวมจิตใจในการกระทำความดีให้แก่หมู่บ้านที่ได้ร่วมกันดูแลรักษาป่าไม้ นับเป็นโครงการเริ่มแรกซึ่ง กองทัพภาคที่ ๒ ได้ขยายผล การฝึกอบรมและจัดตั้งโครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ ดูแลปกครองและได้รับประโยชน์จากป่าไม้ โครงการธง “พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” จึงเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ได้พระราชทานความร่มเย็น ช่วยทำให้ทรัพยากรป่าไม้คงความสมบูรณ์ ก่อให้เกิดความชุ่มชื้นในแผ่นดิน ต่อเนื่องมาตราบถึงปัจจุบัน

            สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีความห่วงใย ความเป็นอยู่ ของราษฎรบริเวณ ชายแดนและทหารกองหนุนที่อาสาสมัครดูแลความปลอดภัยบริเวณชายแดน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐ ให้เป็นกองทุนเริ่มแรกสำหรับการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหาร ที่บ้านบ่อเหมืองน้อย  ตำบลแสงภา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ต่อมาพระองค์ท่านได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรบ้านผไทรวมพล ตำบลหนองแวง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ทรงมีพระราชดำริให้ กองทัพภาคที่ ๒ หาแนวทางช่วยเหลือในเรื่องอาชีพและรายได้ ในพื้นที่หมู่บ้านใดที่มีความเหมาะสมน่าจะเป็นแหล่งผลิตอาหาร ก็ให้ส่งเสริมให้ราษฎรใช้แนวทางทฤษฎีใหม่เป็นหลักในการประกอบอาชีพ โครงการแหล่งผลิตอาหารในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ ๒ จึงได้เกิดขึ้นหลายพื้นที่ เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหาร บ้านผไทรวมพล อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ โครงการพัฒนา พื้นที่เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหาร บ้านนักรบไทย อำเภอสว่างวีรวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี  และโครงการแหล่งผลิตอาหารบ้านคกงิ้ว  อำเภอเชียงคาน  จังหวัดเลย เป็นต้น

โครงการพระราชดำริในระยะแรก

๑.๒.๑ โครงการพระราชดำริในระยะแรกๆนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ

            ๑) โครงการที่มีลักษณะศึกษา ค้นคว้า ทดลองเป็นการส่วนพระองค์ โครงการดังกล่าวนี้เท่ากับเป็นการเตรียมพระองค์ในด้านข้อมูลและความรอบรู้ที่จะทรงนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาและเผยแพร่แก่เกษตรกร รวมทั้งเป็นการแสวงหาแนวทางการพัฒนาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยและสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องถิ่นด้วย

            ๒) โครงการที่มีลักษณะเริ่มเข้าไปแก้ไขปัญหาหลักของเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรประสบปัญหาและอุปสรรคในการทำเกษตรกรรม มากขึ้นทุกขณะซึ่งในขณะที่พระองค์ทรงมีโครงการทดลองและเรียนรู้ไปด้วยกันจะทรงเริ่มก้าวเข้าสู่การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาของเกษตรกรอย่างแท้จริง ระยะแรกโครงการยังจำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะบริเวณรอบๆ ที่ประทับในส่วนภูมิภาค รูปแบบของการพัฒนาแก้ปัญหา คือ การพัฒนาแบบผสมผสาน (Integrated Development) หลังจากนั้นโครงการในลักษณะนี้ค่อยๆ ขยายขอบเขตออกไปสู่สังคมเกษตรกรในพื้นที่ที่กว้างขึ้น

๑.๒.๒ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีอยู่มากมายหลายสาขาหลายประเภท
ในระยะแรกมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ดังนี้คือ

            ๑) โครงการตามพระราชประสงค์หมายถึง โครงการซึ่งทรงศึกษาทดลองปฏิบัติเป็นส่วนพระองค์ ทรงศึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญในวงงาน ทรงแสวงหาวิธีการทดลองปฏิบัติ ทรงพัฒนาและส่งเสริมแก้ไขดัดแปลงวิธีการเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อดูแลผลผลิตทั้งในพระราชฐานและ นอกพระราชฐาน ซึ่งต้องทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการดำเนินการทดลองจนกว่าจะเกิดผลดี ต่อมาเมื่อทรงแน่พระทัยว่าโครงการนั้นๆ ได้ผลดีเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง จึงโปรดเกล้าฯให้รัฐบาลเข้ามารับงานต่อภายหลัง

            ๒) โครงการหลวงพระองค์ทรงเจาะจงดำเนินการพัฒนาและบำรุงรักษาต้นน้ำลำธารในบริเวณป่าเขาในภาคเหนือ เพื่อบรรเทาอุทกภัยในที่ลุ่มล่าง ด้วยเหตุผลที่พื้นที่เหล่านี้เป็นเขตแดน ชาวไทยภูเขา จึงทรงมีโอกาสพัฒนาชาวเขาชาวดอยให้อยู่ดีกินดี ให้เลิกการปลูกฝิ่น เลิกการตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อยลอย และเลิกการค้าไม้เถื่อน ของเถื่อน อาวุธยุทโธปกรณ์นอกกฎหมาย ทรงพัฒนาช่วยเหลือให้ปลูกพืชหมุนเวียนที่มีคุณค่าสูงขนส่งง่าย ปลูกข้าวไร่ และเลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อบริโภค รวมคุณค่าผลผลิตแล้วให้ได้คุณค่าแทนการปลูกฝิ่น ทั้งๆ ที่งานของโครงการนี้กินเวลายาวนานกว่าจะเกิดผลได้ ต้องใช้เวลานานนับสิบปี การดำเนินงานจะยากลำบากสักเพียงใดมิได้ทรงท้อถอย การพัฒนาค่อยๆได้ผลดีขึ้นๆ ชาวเขาชาวดอยจึงมีความจงรักภักดี เรียกพระองค์ว่า“พ่อหลวง” และเรียกสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถว่า“แม่หลวง” โครงการของทั้งสองพระองค์ จึงเรียกว่า “โครงการหลวง”

            ๓) โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์หมายถึง โครงการที่พระองค์ได้พระราชทานข้อเสนอแนะและแนวทางพระราชดำริให้เอกชนไปดำเนินการ ด้วยกำลังเงิน กำลังปัญญา และกำลังแรงงาน พร้อมทั้งการติดตามผลงานให้ต่อเนื่องโดยภาคเอกชน เช่น โครงการพัฒนาหมู่บ้านสหกรณ์เนินดินแดง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งสโมสรโรตารีแห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดและดำเนินงานตามพระราชดำริ โครงการพจนานุกรมโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เป็นต้น

            ๔) โครงการตามพระราชดำริ  โครงการประเภทนี้เป็นโครงการที่ทรงวางแผนพัฒนา ทรงเสนอแนะให้รัฐบาลร่วมดำเนินการตามแนวพระราชดำริ โดยพระองค์เสด็จฯ ร่วมทรงงานกับหน่วยงานของรัฐบาลซึ่งมีทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร โครงการตามพระราชดำรินี้ในปัจจุบันเรียกว่า“โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” มีกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ปัจจุบันมีลักษณะที่เป็นโครงการพัฒนาด้านต่างๆ ที่ดำเนินการเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาสั้น และระยะเวลายาวที่มากกว่า ๕ ปี ขณะเดียวกันก็มีลักษณะที่เป็นงานด้านวิชาการ เช่น โครงการเพื่อการศึกษาค้นคว้าทดลอง หรือโครงการที่มีลักษณะเป็นงานวิจัย เป็นต้น