โครงการป่ารักน้ำฯ บ้านป่ารักน้ำ

โครงการป่ารักน้ำฯ บ้านป่ารักน้ำ (กลุ่มงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

ที่ตั้ง : บ้านป่ารักน้ำ ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

ก่อตั้งเมื่อ : ๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๕        

กิจกรรมสำคัญที่ดำเนินการ : ปลูกไม้ยูคาฯ,ทอผ้า,เกษตร

จุดประสงค์ ศูนย์/โครงการฯ  

          1. เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าไม้ที่เสื่อมโทรมบริเวณต้นน้ำลำธาร ให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำของราษฎรในท้องถิ่น โดยให้ราษฎรเข้าไปร่วมปลูกต้นไม้โตเร็วชนิดต่างๆ

          2. เพื่ออนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้เดิมไว้และปลูกเสริมในพื้นที่ธรรมชาติเพื่อช่วยควบคุมความผันแปรของอากาศ

          3. เพื่อเสริมสร้างและปลูกฝังให้ราษฎรเกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ให้มากยิ่งขึ้น

          4. เพื่อให้ราษฏรในท้องถิ่นมีไม้ใช้สอย           5. เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ยากจน ขาดแคลนที่ดินทำกินและบุกรุกกระจัดกระจายอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติให้ได้มีที่อยู่เป็นในป่าสงวนแห่งชาติให้ได้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและมีอาชีพแน่นอน มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัว

ประวัติความเป็นมา

โครงการป่ารักน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ บ้านป่ารักน้ำ ตำบลโคกสี  อำเภอสวางแดนดิน จังหวัดสกลนคร

          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ทรงเห็นว่าประชาชนในภาคอีสาน ขาดแคลนน้ำ ทรงคิดว่า ป่าไม้เป็นที่ดูดซึมกักเก็บน้ำไว้ในรากดิน ทำให้เกิดเป็นน้ำซับเป็นลำธารขึ้น จึงทรงชักชวนให้ประชาชนร่วมมือร่วมใจช่วยกันปลูกป่า เริ่มตั้งแต่ วันที่  ๒๐ ธันวาคม  ๒๕๒๕  ณ  บริเวณเชิงเขาภูผาเหล็ก ติดต่อกับอ่างเก็บน้ำ บ้านถ้ำติ้ว หมู่ที่ ๒ ตำบลส่องดาว จังหวัดสกลนคร โดยได้ทรงมอบหมายให้ ท่านผู้หญิง สุประภาดา เกษมสันต์ ราชเลขานุการในพระองค์ และ พันเอกเรวัต บุญทับ (ยศในขณะนั้น) จัดเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกป่าเป็นตัวอย่าง จำนวน ๑ ไร่  และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกอบพิธีบวงสรวงขึ้น เพื่อป่าวประกาศ  อันเชิญเทพาอารักษ์ เจ้าป่ามาสถิตย์ ณ ป่าแห่งนี้และบันดาลให้เกิดศิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล แก่ประชาชน โดยทั่วกัน ครั้นเวลา ๑๔๐๐  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินถึงบริเวณพิธี  และได้ทรงนำข้าราชการ ประชาชน ปลูกป่าในพื้นที่ที่เตรียมไว้ และทรงพระราชทานชื่อโครงการนี้ว่า          “ โครงการป่ารักน้ำ ” ในการนี้ได้มีประชาชนเดินทางมาจากอำเภอส่องดาว , อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอวาริชภูมิ  จังหวัดสกลนคร เพื่อประกอบพิธีครั้งนี้ ทรงปลูกไม้ประดู่ , ไม้แดง , ไม้ซ้อ , ต้นกระถินณรงค์ และต้นยูคาลิปตัส

           ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๒๕ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรที่  “ วัดป่าสุขเกษมนิราศภัย ” บ้านหนองไผ่  ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ทราบว่าในหมู่บ้านแห่งนี้มีราษฎรอยู่ ๒ กลุ่ม  กลุ่มหนึ่งมีฐานะดี สอบถามแล้วมีอาชีพตัดไม้ขาย  มีเรือนหลังใหญ่มีที่ดินครอบครองคนละประมาณ ๕๐-๖๐ ไร่  แต่อีกกลุ่มหนึ่งมีฐานะยากจนมาก สภาพความเป็นอยู่แร้นแค้นไม่มีที่ดินทำกินสุขภาพทรุดโทรมมาก เมื่อ เสด็จกลับถึงพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์แล้ว ทรงให้ พันเอก เรวัต บุญทับ เข้าเฝ้าฯ และทรงมีพระราชเสาวนีย์ว่า ต้องมีคนอธิบายให้ราษฎรเหล่านี้ฟังถึงสภาพ แวดล้อมที่เขาทำลายอนาคตของประเทศชาติ และชีวิตของพวกเขาโดยไม่รู้ตัวด้วยการตัดไม้ทำลายป่า แล้วจับจองที่ทำกินไว้คนละมากๆ  แต่ทำกินไม่หมด ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าอย่างน่าเสียดาย  จะเนรมิตน้ำให้   จะสร้างสักกี่อ่างถ้าฝนไม่ตก อ่างจะเก็บอะไรได้   คุณเรวัตฯ   ช่วยแบ่งจำนวนไร่ที่ฉันเช่าให้กับราษฎร ซึ่งไม่มีที่ทำกินเราต้องไปสร้าง  บ้านป่ารักน้ำ และบ้านเล็กในป่าใหญ่ ให้กับราษฎรที่มีสภาพความเป็นอยู่น่าอนาถเหล่านั้นได้อาศัยและสอนให้เขารู้จักใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วให้เกิดประโยชน์ ในขั้นแรกจะต้องช่วยเหลือให้มีเงินเดือน มีฉางข้าว มีถังเก็บน้ำฝนสำหรับดื่มได้ตลอดปี  มีโค  มีเกวียน  สำหรับบรรทุกสิ่งของ เกวียนสมัยโบราณสามารถขนของอะไรก็ได้  ให้ทุกครอบครัวเลี้ยงไก่ นำไข่ไก่ให้ลูกรับประทานบ้าง จะได้ไม่เป็นโรคขาดสารอาหาร และสมองเจริญทันอายุ ให้ทุกบ้านมีกี่สำหรับทอผ้า มีแปลงหม่อนสำหรับปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าไหมใช้เอง และส่งไปขายให้กับมูลนิธิศิลปาชีพพิเศษ แนะนำการทำสวนของหมู่บ้านที่เขาจะได้รับประโยชน์ เช่น เพาะเห็ด , ปลูกมะม่วง ,   กล้วย , มะขาม , แค , มะละกอ , กระบก , พริก , พืชผักสวนครัว  เช่น  ต้นหอม , ฟักทอง , แตงกวา ผู้ชายต้องฝึกหัดเพาะชำกล้าไม้และปลูกป่าให้เป็น ปลูกไม้เนื้อแข็งที่สูงค่า เช่น ไม้เต็ง ,ไม้แดง ,ไม้มะค่า ,ไม้ประดู่ ,  ไม้ขี้เหล็ก , มะม่วงป่า , แคบ้าน และปลูกกระถินยักษ์ให้ใบหล่นทับถมเป็นปุ๋ยหมักช่วยรักษาหน้าดิน ปลูกต้นนุ่นรอบๆ บ้าน  เพื่อเก็บฝักมาทำผ้านวมส่งขายให้กับมูลนิธิศิลปาชีพพิเศษเพื่อไปพระราชทานแก่  ทหาร ตำรวจ    เมื่อคราวที่ทรงทรงเสด็จเยี่ยมฐานปฏิบัติการต่างๆ นี้คือน้ำพระทัย ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งทรงห่วงใยราษฎร ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะหยุดยั้งวิกฤติการณ์ขาดแคลนน้ำ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญ   ของโลกได้ทำนายเอาไว้ว่าจะเกิดขึ้นเพราะการทำลายป่าอย่างรวดเร็วของชาวโลกทั่วๆไปจะเปลี่ยนแปลงบรรยากาศบนท้องฟ้า ทำให้ขาดแคลนความชุ่มชื้นโดยเฉพาะประเทศต่างๆ ในเขตร้อนที่เคยมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์  การตัดไม้ทำลายป่ากำลังระบาดหนัก มาตรการป้องกันไม่รัดกุม ผู้เชี่ยวชาญของโลกตกใจมาก  เมื่อทราบถึงการลักลอบตัดไม้อย่างรวดเร็ว ของประชาชนในแถบลุ่มแม่น้ำอาเมซอนในทวีปอเมริกา ขาดน้ำกินเป็นอันสิ้นสุดของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเช่าที่ดินของ นางเหง้า  เพิ่มพูน ราษฎรบ้านหนองไผ่  ตำบลโคกสี   อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร จำนวน  ๑๐ ไร่  ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินซึ่งรกร้างว่างเปล่าทำนาไม่ได้ผลเต็มไปด้วยหญ้าคา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ทรงมี พระราชประสงค์จะสอนให้ราษฎร ได้รู้จักใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์ทุกตารางนิ้ว มิใช่จับจองที่ป่าสงวนได้คนละมากๆ แล้วทำกินไม่หมด ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าดังกล่าวแล้ว โดยทรงคัดเลือกราษฎรบ้านหนองไผ่  ที่ยากจนไม่มีที่ทำกินมีบุตรมาก แต่มีความขยันขันแข็ง เข้าอาศัยในที่ดิน จำนวน ๑๐ ไร่ นี้

            ต่อเมื่อวันที่ ๒ มกราคม  ๒๕๒๖  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ทรงให้ พันเอก เรวัต –บุญทับ  เข้าเฝ้า  ณ   พระตำหนักจิตลดารโหฐาน   และทรงมีพระราชเสาวนีย์ ในการจัดตั้งหมู่บ้าป่ารักน้ำขึ้น ซึ่งคัดเลือกราษฎรที่ยากจนไม่มีที่ทำกิน  จากบ้านหนองไผ่   ตำบลโคกสี   อำเภอสว่างแดนดิน  จังหวัดสกลนคร จำนวน ๕ ครอบครัว  ทรงคัดเลือกราษฎรจากบ้านห้วยไหล่ ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม จำนวน ๔ ครอบครัว รวม ๙  ครอบครัว  มาอยู่ในบ้านป่ารักน้ำ  โดยพระราชทานให้อยู่ ซึ่งลักษณะบ้านพระราชทานเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง  ฝาขัดแตะ ชั้นบน มี ๒ ห้องนอน ๑ ห้อง พักผ่อน ชั้นล่างดัดแปลงเป็นห้องครัว  ห้องสุขา ห้องเลี้ยงไหม และตั้งกี่ทอผ้า  นอกจากนี้ได้พระราชทานถังเก็บน้ำฝน, โค ๒ ตัว, เกวียน ๑ เล่ม , ยุ้งเก็บข้าว, ไก่  และเล้าไก่,  พันธุ์ไม้ผล   พร้อมทั้งพระราชทานเงินเดือนครอบครัวละ  ๑,๕๐๐  บาท ทรงมอบหมายให้ราษฎรช่วยปลูกต้นไม้ และรักษาป่าครอบครัวละประมาณ  ๕  ไร่ โดยทรงเช่าที่ดินรกร้างว่างเปล่าจากราษฎรเพิ่มเติมอีก   ตามจำนวนครอบครัว ที่เพิ่มขึ้น

            ต่อมาใน  ปี พ.ศ. ๒๕๒๗   สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  เสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ จังหวัดอุดรธานี   ทรงพบราษฎรยากจนขาดแคลนที่ทำกิน ก็ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้   พันเอก เรวัต บุญทับ ไปรับราษฎรเหล่านั้นจาก อำเภอหนองวัวซอ, อำเภอหนองบัวลำภู  จังหวัดอุดรธานี  มาอยู่บ้านป่ารักน้ำอีก ๑๘ ครอบครัว ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘  ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้รับราษฎรจาก อำเภอส่องดาว, อำเภอบ้านม่วง จังหวัด สกลนคร  มาอยู่เพิ่มอีก ๙ ครอบครัว  รวมปัจจุบันมีราษฎรในโครงการป่ารักน้ำ รวมทั้งสิ้นจำนวน ๓๖ ครอบครัว มีพื้นที่ปลูกป่าที่อยู่อาศัย   ทำเกษตรกรรมและอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งสิ้นประมาณ ๑,๐๒๙  ไร่